วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556
พระอภัยมณี
พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. 2364-2366[1] และแต่งๆ หยุดๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. 2388 รวมเวลามากกว่า 20 ปี
เนื้อเรื่องของ พระอภัยมณี ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครพระอภัยมณี นับแต่อายุได้ 15 ปีและออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีไทยอื่นๆ แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามา มิใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ การเป่าปี่ ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น เขากับน้องชายคือ ศรีสุวรรณ ระเหเร่ร่อนไปจนเจอกับสามพราหมณ์ ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป มีบุตรชายชื่อสินสมุทร พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยังเกาะแก้วพิสดาร เขามีบุตรกับอมนุษย์อีกครั้งคือกับนางเงือก ได้บุตรชายชื่อสุดสาคร ต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือ นางสุวรรณมาลี แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้เมื่อ นางละเวงวัณฬา ลูกสาวเจ้ากรุงลังกาซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสาวสวย ตกหลุมรักกับพระอภัยมณีเสียเอง หลังสงคราม พระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีกับนางละเวงออกบวชด้วย เรื่องราวในช่วงหลังของ พระอภัยมณี เป็นการผจญภัยของรุ่นลูกๆ ของพระอภัยมณี โดยมีสุดสาครกับนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวของสุดสาครโดยเฉพาะในช่วง กำเนิดสุดสาคร (พระอภัยมณี ตอนที่ 24-25) นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากอีกชุดหนึ่ง
พระอภัยมณี จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องของพระอภัยมณีแหวกประเพณีของวรรณคดีในยุคเก่า มีจินตนาการล้ำยุคอยู่มากมาย และมีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง ความเป็นนักคิดยุคใหม่ของผู้ประพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี นักวิชาการจำนวนมากพากันศึกษากลอนนิทาน พระอภัยมณี เพื่อค้นคว้าหาแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงแนวคิดของสุนทรภู่กับวรรณกรรมโบราณ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุคใหม่ของบรรดานักเดินเรือที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคการค้าสำเภา นอกจากนี้ แนวคิดที่สุนทรภู่สอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมาก เพราะผู้คนล้วนใช้บทกลอนเหล่านั้นเป็นคติสอนใจ เช่น บทกลอนในช่วงที่พระฤๅษีสอนสุดสาคร เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ พระอภัยมณี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยโรงพิมพ์ของหมอสมิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมของเรื่องมีมากขนาดที่หมอสมิทสามารถจำหน่ายนิทานคำกลอนเรื่องนี้ขายดิบขายดีจนมีเงินสร้างตึกได้ ในยุคต่อมา มีการดัดแปลงและถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นนี้ออกไปในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องเล่าร้อยแก้ว การ์ตูน รวมทั้งภาพยนตร์ และละคร บทกลอนหลายช่วงในเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในแบบการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคติสอนใจที่ผู้คนทั่วไปจดจำกันได้
อ้างอิง
- ↑ Jump up to:1.0 1.1 1.2 สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี. อมรินทร์การพิมพ์. พ.ศ. 2529. ISBN 974-87416-1-3
- ↑ Jump up to:2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร. พ.ศ. 2518
- ↑ Jump up to:3.0 3.1 เปลื้อง ณ นคร. ประวัติวรรณคดีไทย. สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. พ.ศ. 2543 ISBN 974-08-3748-4
- ↑ Jump up to:4.0 4.1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่. หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเรือเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงราชสิมา. 2468.
- Jump up↑ ประจักษ์ ประภาพิทยากร. เบื้องหลังการแต่งพระอภัยมณี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2513.
- Jump up↑ สุรีย์ พงศ์อารักษ์. พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : เอเซียแปซิฟิค พริ้นติ้ง. 2546.
- Jump up↑ ศจ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์. พระอภัยมณี...มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : คอนฟอร์ม. 2550
- Jump up↑ กาญจนาคพันธุ์. ภูมิศาสตร์สุนทรภู่. บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด. พ.ศ. 2540. ISBN 974-540-925-1
- Jump up↑ กรมศิลปากร. พระอภัยมณีคำกลอนของสุนทรภู่. สำนักพิมพ์บรรณาคาร. พิมพ์ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2517
- Jump up↑ สุนทรภู่ จินตกวีผู้ปั้น“พระอภัยมณี”, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
- Jump up↑ พระอภัยมณีวรรณคดีการเมือง ต่อต้านการล่าเมืองขึ้น
- Jump up↑ มองวรรณคดีชาวบ้านในแง่การเมือง
- Jump up↑ ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
- Jump up↑ พระอภัยมณี ฉบับแปลภาษาอังกฤษ
- ↑ Jump up to:15.0 15.1 ศานติ ภักดีคำ. "เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร" ความสัมพันธ์วรรณกรรมสุนทรภู่กับวรรณกรรมเขมร ใน สุนทรภู่ในประวัติศาสตร์สังคมรัตนโกสินทร์มุมมองใหม่: ชีวิตและผลงาน. กทม. มติชน. 2550.
- Jump up↑ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล. แผ่นเสียงอ่านหนังสือพระอภัยมณี
- Jump up↑ เนื้อเพลง "จุดเทียนเวียนวน" โดย มาณี มณีวรรณ
- Jump up↑ ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระอภัยมณี ที่วัดหัวลำโพง
- Jump up↑ รายชื่อผลงานภาพยนตร์ของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์
- Jump up↑ รายชื่อผลงานภาพยนตร์ของชลัท ศรีวรรณา
- Jump up↑ "สุดสาคร" โดยโมโนฟิล์ม พ.ศ. 2549
- Jump up↑ การแสดงละคร เรื่อง พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร โดยโรงละครนาฏยศาลา
- Jump up↑ ประวัติย่อ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ praphansarn.com
- Jump up↑ นศ.ไทยในแดนผู้ดีเตรียม“พระอภัยมณีฉบับดัดแปลง”แสดงที่ ลอนดอน
- Jump up↑ ผลงาน "สุดสาคร" ของปยุต เงากระจ่าง
- Jump up↑ Apai Quest
- Jump up↑ รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2552
- Jump up↑ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง "พระอภัยมณี"
- Jump up↑ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย. นิทรรศการพระอภัยมณีของสุนทรภู่. 14 มิถุนายน 2535
สถานที่
ตัวละคร
ตัวละครในเรื่อง พระอภัยมณี มีจำนวนมาก แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ หลายฝ่าย ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกลักษณะและจุดเด่นต่างๆ กัน เชื่อว่าสุนทรภู่นำเค้าโครงของบุคลิกลักษณะบางส่วนของตัวละคร มาจากชีวิตของบุคคลจริงที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในชีวิต เช่น ลักษณะหุนหันพลันแล่นและอารมณ์ร้ายของนางผีเสื้อสมุทร กับความขี้หึงของนางสุวรรณมาลี พ้องกับลักษณะนิสัยของแม่จัน ภริยาคนแรกของท่าน ส่วนลักษณะอันอ่อนหวานละมุนละไม หัวอ่อนเชื่อคนง่าย มาจากลักษณะนิสัยของแม่นิ่ม ภริยาคนที่สองของท่าน
สุนทรภู่ยังนำตัวละครบางส่วนมาจากวรรณคดีโบราณ เช่น นางยักษ์หรือนางผีเสื้อสมุทร ตัวละครบางตัวทำให้เชื่อได้ว่า สุนทรภู่มีการติดต่อคบค้ากับเหล่าพ่อค้าต่างประเทศ เช่น นางเงือก เพราะลักษณะของนางเงือกในเรื่อง พระอภัยมณี ที่เป็นหญิงสาวสวยเปลือยกายท่อนบนและมีหางเป็นปลา สอดคล้องกับลักษณะของนางเงือกในวรรณกรรมตะวันตกมากกว่านางเงือกในวรรณคดีโบราณของไทย[8]
แรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจ
เนื้อหาในเรื่อง พระอภัยมณี นอกจากมีความแปลกใหม่ด้านเค้าโครงเรื่อง แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่แสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ของผู้ประพันธ์ว่ามีความรู้กว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง นักวิชาการส่วนมากลงความเห็นพ้องกันว่า สุนทรภู่ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากวรรณคดีโบราณทั้งของไทยและของต่างประเทศ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า "เรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ตั้งใจแต่งโดยประณีตทั้งตัวเรื่องและถ้อยคำสำนวน ส่วนตัวเรื่องนั้นพยายามตรวจตราหาเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ บ้าง เรื่องที่รู้โดยผู้อื่นบอกเล่าบ้าง เอามาตริตรองเลือกคัดประดิษฐ์ติดต่อแต่ง ประกอบกับความคิดของสุนทรภู่เอง"[4] ประจักษ์ ประภาพิทยากร กล่าวว่า "วรรณคดีที่สุนทรภู่อาศัยเค้ามานั้น มีทั้งวรรณคดีจีน ชวา ไทย แขก พร้อมมูล วรรณคดีที่กล่าวมานี้สุนทรภู่ต้องรู้ดีแน่"[5] หรือ สุรีย์ พงศ์อารักษ์ กล่าวถึง พระอภัยมณี ว่า "เนื้อเรื่องส่วนใหญ่แตกต่างจากวรรณคดีไทยแนวจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป เค้าโครงเรื่องได้มาจากวรรณคดีต่างๆ ของไทยและวรรณคดีต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น เรื่องอาหรับราตรี เรื่องไซ่ฮั่น เป็นต้น รวมถึงเค้าเรื่องจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในชีวิตของสุนทรภู่ และจินตนาการที่ผสมผสานผูกร้อยเข้าด้วยกัน"[6] เค้าโครงจากวรรณกรรมต่างประเทศนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า เค้าเรื่องที่มาจากอาหรับราตรี ของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน คือนิทานว่าด้วยเรื่องของกษัตริย์ชาติอิสลามไปตีเมืองซึ่งนางพระยาเป็นคริสตัง เมื่อพบกันในสนามรบก็เกิดรักกัน ทำนองเดียวกับที่พระอภัยมณีพบนางละเวงวัณฬาในสนามรบ ส่วนเค้าโครงที่มาจากไซ่ฮั่น คือส่วนที่ว่าด้วยเพลงปี่ของเตียวเหลียง ผู้วิเศษที่ชำนาญการเป่าปี่แก้วจนอาจสะกดผู้คนได้ ทำนองเดียวกับวิชาปี่ของพระอภัยมณี[4] นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากนักวิชาการอื่นอีกหลายท่านล้วนลงความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น[7]
เนื้อหาส่วนใหญ่ของเรื่องเกิดขึ้นในทะเล นับแต่ถ้ำนางผีเสื้อสมุทร เกาะแก้วพิสดาร เมืองรมจักร เมืองการะเวก เมืองผลึก และเมืองลังกา ล้วนไปมาหาสู่กันได้จากทางทะเลเท่านั้น รายละเอียดการเดินทางในทะเลแต่ละครั้งจะมีการบรรยายอย่างละเอียด มีการบรรยายถึงสัตว์น้ำต่างๆ การบรรยายถึงการดูดาว การบรรยายถึงสถานที่ซึ่งอิงกับนิทานปรัมปรา สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หากสุนทรภู่มิได้ไปเห็นด้วยตัวเอง ก็ต้องได้อ่านและได้ฟังมาอย่างมากเหลือเกิน จนสามารถกลั่นกรองและคัดเลือกมานำเสนอได้อย่างเหมาะเจาะ
โครงเรื่อง
ท้าวสุทัศน์และพระนางประทุมเกสร ผู้ครองกรุงรัตนา มีพระโอรสสององค์ คือ พระอภัยมณี และศรีสุวรรณ ได้รับสั่งให้โอรสทั้งสองไปเรียนศิลปวิทยา ในที่สุดพระอภัยมณีได้เรียนวิชาปี่ ขณะที่ศรีสุวรรณได้เรียนวิชากระบี่กระบอง เมื่อสำเร็จวิชา ก็ได้กลับคืนพระนคร ทว่าพระบิดาทรงกริ้ว ด้วยพระโอรสไปเรียนวิชาชั้นต่ำ ไม่คู่ควรแก่กษัตริย์ จึงไล่ทั้งสองออกจากพระนคร
ทั้งสองเดินทางมาถึงชายทะเล ได้พบกับสามพราหมณ์คือ โมรา สานนท์ และวิเชียร ได้สมัครเป็นมิตรกัน แล้วพระอภัยมณีเป่าปี่ให้คนทั้งหมดฟัง ทั้งหมดเคลิบเคลิ้มตามเพลงปี่จนหลับไป เพลงปี่ดังไปถึงนางผีเสื้อสมุทรที่อาศัยอยู่ในทะเล เมื่อตามเสียงปี่มาพบพระอภัยมณีก็หลงรัก จึงลักพาตัวพระอภัยมณีไปอยู่กับนางบนเกาะ แล้วจำแลงร่างเป็นหญิงสาวสวยงาม แม้พระอภัยรู้อยู่ว่านั่นคือนางยักษ์ แต่ก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ทั้งสองอยู่กินกันมาจนนางผีเสื้อให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อว่า สินสมุทร
ด้านศรีสุวรรณกับสามพราหมณ์เมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบพระอภัยมณีก็เที่ยวค้นหา จนไปถึงเมืองรมจักรพบศึกติดพัน ศรีสุวรรณกับสามพราหมณ์ช่วยรบป้องกันเมืองได้ ได้พบนางเกษราธิดาของเจ้าเมือง ต่อมาศรีสุวรรณได้อภิเษกนางเกษรา มีพระธิดาชื่อนางอรุณรัศมี
วันหนึ่งสินสมุทรออกไปเที่ยวเล่นเจอพ่อเงือกแม่เงือก จึงจับตัวมาให้พระอภัยดู พ่อเงือกแม่เงือกวอนขอชีวิตโดยเสนอจะพาพระอภัยหนี พระอภัยจึงออกอุบายให้นางผีเสื้อไปถือศีลบนเขาสามวัน ระหว่างนั้นเขาก็พาสินสมุทรหนี พ่อเงือกแม่เงือกพาพระอภัยและสินสมุทรมาเกือบถึงเกาะแก้วพิสดารแล้ว แต่นางผีเสื้อรู้ตัวติดตามมาทัน จับพ่อเงือกแม่เงือกฆ่าเสีย นางเงือกผู้ลูกพาพระอภัยกับสินสมุทรหนีไปจนถึงเกาะแก้วพิสดารได้สำเร็จ บนเกาะนี้มีพระฤๅษีมีฤทธิ์มาก นางผีเสื้อจึงไม่กล้าทำอะไร ทั้งหมดอาศัยอยู่บนเกาะแก้วพิสดาร พระอภัยได้นางเงือกเป็นภริยา
ฝ่ายท้าวสิลราชกับพระนางมณฑา ผู้ครองเมืองเมืองผลึก มีพระธิดาองค์เดียวคือ นางสุวรรณมาลี ทรงเป็นคู่หมั้นอยู่กับอุศเรน เจ้าชายเมืองลังกา วันหนึ่งนางสุวรรณมาลีเกิดนิมิตฝัน โหรทำนายว่าต้องออกเที่ยวทะเลจะได้พบลาภ ทั้งหมดจึงเดินเรือเที่ยวท่องไป แต่เกิดพายุใหญ่พัดเรือไปถึงเกาะนาควาริน คำทำนายของปู่เจ้าทำให้ท้าวสิลราชพากองเรือมุ่งหน้าไปยังเกาะแก้วพิสดาร ได้พบพระอภัยมณีและรับพระอภัยมณีกับสินสมุทรขึ้นเรือไปด้วยเพื่ออาศัยกลับบ้านเมือง แต่เมื่อเรือออกจากเกาะ นางผีเสื้อสมุทรก็มาอาละวาดอีกจนเรือแตก ท้าวสิลราชกับบริวารส่วนใหญ่สิ้นชีพ สินสมุทรพานางสุวรรณมาลีหนีไปได้ พระอภัยมณีเป่าปี่สังหารนางยักษ์
ทั้งหมดแตกกระจายพลัดพรายจากกัน พระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากอุศเรน คู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี ที่ออกเรือมาตามหาเพราะหายไปนาน ส่วนสินสมุทรกับนางสุวรรณมาลีได้โจรสุหรั่ง โจรสลัดในน่านน้ำนั้นช่วยไว้ได้ แต่โจรคิดทำร้าย สินสมุทรจึงสังหารโจรแล้วครองเรือมาเอง แล้วได้พบศรีสุวรรณที่ออกล่องเรือเที่ยวตามหาพี่ชาย ทั้งหมดเดินทางไปด้วยกันจนมาพบพระอภัยมณีกับอุศเรน สินสมุทรรักนางสุวรรณมาลีอยากได้เป็นแม่ จึงเกิดวิวาทกับอุศเรน พระอภัยมณีไปเมืองผลึกกับนางสุวรรณมาลีและได้ขึ้นครองเมืองแทนท้าวสิลราช อุศเรนแค้นและกลับเมืองลังกายกทัพมาตีเมืองผลึก แต่แพ้อุบายนางวาลีจนสิ้นชีวิต นางละเวงวัณฬาผู้น้องสาวคิดแก้แค้น จึงใช้รูปของตนทำเสน่ห์ส่งไปหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยกทัพมาตีเมืองผลึก
ด้านเกาะแก้วพิสดาร นางเงือกให้กำเนิดบุตรชื่อ สุดสาคร เป็นเด็กฉลาดแข็งแรง วันหนึ่งสุดสาครจับม้านิลมังกรได้ พระฤๅษีสอนวิชาให้แล้วเล่าเรื่องพระอภัยมณีให้ฟัง สุดสาครออกเดินทางตามหาพระอภัยมณีจนไปถึงเมืองการเวกระหว่างทางถูกชีเปลือยหลอกขโมยไม้เท้าและม้านิลมังกรไป แต่พระฤๅษีมาช่วยไว้ เมื่อชิงไม้เท้าและม้านิลมังกรคืนมาได้ ก็เข้าเมืองการเวก กษัตริย์เจ้าเมืองรักใคร่เอ็นดูสุดสาคร จึงเลี้ยงดูเป็นโอรสบุญธรรมอยู่ด้วยกันกับนางเสาวคนธ์และหัสไชยพระธิดาและพระโอรส จนเติบใหญ่ สุดสาครคิดออกตามหาพ่อ เจ้าเมืองการเวกจึงจัดกองเรือให้ โดยมีนางเสาวคนธ์และหัสไชยติดตามไปด้วย ทั้งหมดล่องเรือไปถึงเมืองผลึกขณะถูกทัพลังกาและทัพพันธมิตรล้อมเมือง
พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร และสุดสาคร ช่วยเมืองผลึกรบจนสามารถเอาชนะทัพอื่นๆ ได้ พระอภัยมณีได้รูปวาดนางละเวงที่ลงเสน่ห์ทำให้เมืองต่าง ๆ พากันยกมารบเมืองผลึกตามคำขอนางนาง แล้วเกิดต้องมนต์ของนางละเวงเสียเอง พระอภัยยกทัพตามไปตีเมืองลังกา แต่รบกันเท่าใดก็ไม่แพ้ชนะเสียที ต่อมาพระอภัยมณีลอบติดรถนางละเวงเข้าไปในวัง เมื่อนางละเวงได้พบพระอภัยก็ฆ่าไม่ลง กลับหลงรักจนได้เป็นสามีภรรยากัน ส่วนบริวารอื่นของนางละเวงคือนางยุพาผกา รำภาสะหรี และสุลาลีวัน ใช้เสน่ห์กับฝ่ายพระอภัยมณี ได้แก่ ศรีสุวรรณ สินสมุทร และแม้แต่สุดสาครที่ครองตนเป็นฤๅษีก็ต้องมนต์ไปด้วย จนทั้งหมดหลงมัวเมาติดพันอยู่ในลังกาไม่ยอมกลับเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีกับอรุณรัศมีและเสาวคนธ์จึงมาตาม แต่ไม่เป็นผล จนต้องให้หัสไชยช่วยแก้เสน่ห์ให้ลุงและเหล่าพี่ กษัตริย์ทั้งหมดยอมสงบศึกต่อกัน แต่นางเสาวคนธ์แค้นสุดสาครจึงหนีไปเมืองวาหุโลม สุดสาครต้องติดตามไปจนภายหลังจึงได้อภิเษกกัน
ด้านกรุงรัตนา ท้าวสุทัศน์สิ้นพระชนม์ พระอภัยมณีกับเหล่ากษัตริย์จึงเดินทางไปทำศพ มังคลาบุตรของพระอภัยมณีกับนางละเวงได้ครองเมืองลังกา แต่ถูกบาทหลวงยุแหย่จึงแค้นเคืองเหล่ากษัตริย์ จับตัวนางสุวรรณมาลีและพระญาติมาขังไว้ หัสไชยกับสุดสาครยกทัพมาช่วยแต่ไม่สำเร็จ แม้แต่นางละเวงผู้เป็นมารดาเองก็ห้ามปรามไม่ได้ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณยกทัพตามมาจึงเอาชนะศึกได้ จบศึกแล้วพระอภัยมณีอภิเษกโอรสทั้งหลายให้ครองเมืองต่าง ๆ แล้วออกบวชพร้อมกับนางละเวงและนางสุวรรณมาลี
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)